รายละเอียด
จากข้อมูลของธนาคารโลก ในปี ค.ศ. 1960 ประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง มีทั้งหมด 101 ประเทศ เมื่อถึงปี 2008 หรือ 48 ปีต่อมา มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้นที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงที่ธนาคารโลกกำหนดให้รายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 12,536 ดอลลาร์ 13 ประเทศนี้ได้แก่ อิเครทอเรียกินี (Equatorial Guinea), กรีซ, ฮ่องกง, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, มอริเชียส, โปรตุเกส, เปอร์โตริโก, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, สเปน และไต้หวัน ปี 2024 คาดว่าจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงรายต่อไปและตามมาด้วยมาเลเซีย ความสำเร็จของจีนถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ เพราะนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มีเพียง 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้กับไต้หวันเท่านั้น ที่สามารถก้าวจากประเทศรายได้ต่ำและยากจนมาเป็นประเทศรายได้สูง จีนจะเป็นประเทศรายที่ 3 ส่วนอีกกว่า 80 ประเทศ การพัฒนาในช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมายังคงมีฐานะเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เพราะเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่า "กับดักรายได้ปานกลาง" (middle-income trap) คือเศรษฐกิจไม่สามารถแข่งขันในตลาดสินค้ามีมูลค่าสูงเพราะขาดนวัตกรรมและแรงงานที่มีทักษะขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถแข่งขันในตลาดสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีต่ำเพราะค่าแรงของตัวเองสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำทำให้ไม่สามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงได้ต่อเนื่อง