รายละเอียด
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์หลัก 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง เพื่อศึกษาเปรียบเทียบทัศนคติและการรับรู้ของผู้บริหารและครูในโรงเรียน เกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบใหม่ของครูที่เอื้อต่อการปฏิรูปการศึกษาซึ่งทำการศึกษาทั้งในบริบทภายนอกและภายในห้องเรียน ระยะที่สอง เพื่อพัฒนารูปแบบชุดฝึกอบรมการเป็นผู้นำของครู ผู้วิจัยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้บริหารและครูจากเขตการศึกษา 1, 4, 5, 8, 9,12 และกรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยได้ส่งแบบสอบถาม ไปให้ผู้บริหาร 675 คนและครู 1635 คน ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาและใช้ได้จากผู้บริหารจำนวน 404 ฉบับ และครู 825 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 59.85 และ 50.46 ตามลำดับ ประมวลผลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows สถิติที่ใช้ประกอบด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าที และสมการถดถอยพหุคุณ ซึ่งคำนวณโดยใช้โปรแกรม Shazam Econometrics ผลการวิจัยระยะที่หนึ่ง ในส่วนของบริบทภายนอกห้องเรียน พบว่าผู้บริหารและครูมีทัศนคติเกี่ยวกับบทบาท ความรับผิดชอบใหม่ที่ครูควรมีในระดับมากใน 8 ด้านจาก 10 ด้าน คือ 1. การสร้างทีมงาน 2. การจัดการโครงการ 3.การพัฒนาบุคลากร 4. การสร้างความเข้าใจหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดี 5. การเสนอแนวคิดที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ 6. การประเมินผล 7. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง 8. การสร้างเครือข่าย ความสัมพันธ์ ผู้บริหารรับรู้ว่าครูมีบทบาท ความรับผิดชอบตามสภาพที่เป็นจริงใจในระดับมาก 5 ด้าน คือ 1. การสร้างทีมงาน 2. การสร้างความเข้าใจหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดี 3. การเสนอแนวคิดที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ 4. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง 5. การสร้างเครือข่าย ความสัมพันธ์ ในขณะที่ครูรับรู้ในระดับมาก 1 ด้านคือการสร้างความเข้าใจหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของโรงเรียน บริบทภายในห้องเรียน ทั้งผู้บริหารและครูมีทัศนคติเกี่ยวกับบทบาท ความรับผิดชอบของครูในห้องเรียนว่าควรมีในระดับมากทั้ง 12 ด้าน ส่วนการรับรู้ในสภาพการปฏิบัติจริงนั้น ผู้บริหารรับรู้ว่าครูปฏิบัติในระดับมาก 1 ด้าน คือ การจัดชั้นเรียนในลักษณะป้องกันมิให้เกิดปัญหาในด้านระเบียบวินัย และปัญหาด้านการปรับตัวของผู้เรียน ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของผู้บริหารในบริบทนอกห้องเรียนได้แก่วุฒิทางการศึกษา และประสบการณ์การฝึกอบรม ปัจจัยที่มีอิทธิพลในบริบทภายในห้องเรียนได้แก่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรวิชาชีพทางการศึกษา ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและการรับรู้ของครู ทั้งบริบทภายนอกและภายในห้องเรียนคือ ประสบการณ์ฝึกอบรม การวิจัยระยะที่สอง เป็นการสร้างชุดฝึกอบรม ประกอบด้วย 3 หน่วยคือ หน่วยที่ 1. การพัฒนาวิธีคิด หน่วยที่ 2. การพัฒนาวิสัยทัศน์และการทำงานเป็นทีม และหน่วยที่ 3. การประชาสัมพันธ์โรงเรียน การฝึกอบรมได้นำพุทธวิธีคิดและประสานกับแนวคิดทางการศึกษาของตะวันตก โดยเน้นบทบาทความรับผิดชอบใหม่ในแง่ของการเป็นผู้นำ และการปฏิบัติงานในลักษณะวิชาชีพของครู ที่เอื้อต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ